หน้าที่ของมูลนิธิหรือสมาคมที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(1) ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(2) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้รับ
(3) ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร
(4) ต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษี
การขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ล.ป.10.3) ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือวันที่เริ่มประกอบกิจการในประเทศไทย แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
สถานที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
(1) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
(2) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิหรือสมาคม ตั้งอยู่
(3) มูลนิธิหรือสมาคมสามารถยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรประเภทนิติบุคคลโดยผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ http://www.rd.go.th โดยระบบจะให้บันทึกข้อมูลรายการต่าง ๆ เช่น เลขทะเบียนนิติบุคคล วันที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รอบระยะเวลาบัญชี และลักษณะการเป็นนิติบุคคล เป็นต้น
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
มูลนิธิหรือสมาคมต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินได้ดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี ดังนี้
1. เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ๆ
4. เงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
5. เงินได้ประเภทค่าเช่าทรัพย์สินฯ
6. เงินได้ค่าวิชาชีพอิสระ
7. เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ
8. เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ใน 1. ถึง 7. เฉพาะที่เป็นเงินได้จากการจ้างทำของ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค ค่าโฆษณา ค่าแสดงที่จ่ายให้นักแสดงสาธารณะ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากการส่งเสริมการขาย การประกันวินาศภัย การขนส่ง (ไม่รวมค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ) การให้บริการอื่นๆ (ไม่รวมถึงค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต)
การจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี
ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งให้แก่ผู้รับเงิน โดยรวมจำนวนที่จ่ายเป็นประจำวัน และรวมยอดเป็นรายเดือน เมื่อสิ้นวันสุดท้ายของเดือนและต้องเก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่สำนักงานที่มีการจ่ายเงิน
กรณียกเว้นไม่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี
1. การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงินของธนาคาร สหกรณ์ บริษัท ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
2. กรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน
3. กรณีอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
การยื่นแบบแสดงรายการและการนำส่งภาษี
มูลนิธิหรือสมาคมผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งนำเงินภาษีส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงิน
แบบแสดงรายการที่ใช้ยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
(1) ภ.ง.ด.1 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำ การรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าบำเหน็จ ฯลฯ ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภ.ง.ด.1 ก ใช้สำหรับแสดงรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนเงินภาษีที่ได้นำส่งไว้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า หรือบำเหน็จ ฯลฯ ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลายื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
(3) ภ.ง.ด.2 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิ ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตราสารหนี้หรือตราสารทุน ฯลฯ ตามมาตรา 40 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) ภ.ง.ด.2 ก ใช้สำหรับแสดงรายการสรุปการจ่ายเงินได้และจำนวนเงินภาษีที่ได้นำส่งในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิ ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตราสารหนี้หรือตราสารทุน ฯลฯ ตามมาตรา 40(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลายื่นแบบภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป
(5) ภ.ง.ด.3 ใช้สำหรับนำส่งภาษีเป็นรายเดือน กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทค่าเช่าทรัพย์สิน ค่าวิชาชีพอิสระ การรับเหมา การรับจ้างทำของ หรือเงินได้จากการประกอบธุรกิจการพาณิชย์ ฯลฯ ตามมาตรา 40(5) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
(1) ภ.ง.ด.53 ใช้สำหรับนำส่งภาษีกรณีจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(2) ภ.ง.ด.54 ใช้สำหรับนำส่งภาษี สำหรับ
(ก) กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)-(6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายจากหรือในประเทศไทย และมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่ง
(ข) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
[su_box title=”Foundation: มูลนิธิกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง?” style=”glass” box_color=”#351a31″]เนื่องจากในการ ก่อตั้งมูลนิธิ หรือสมาคม จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยในส่วนของการจัดทำบัญชีมูลนิธิหรือสมาคมจะต้องยื่นงบอย่างไร โทร 02-3569552 02-3569544
สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับกรมสรรพากรนั้น มูลนิธิหรือสมาคมที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ดังนั้น มูลนิธิหรือสมาคมจึงต้องจัดทำบัญชีที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสียภาษีดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการของมูลนิธิหรือสมาคมจึงควรจัดทำงบดุล บัญชีรายได้ บัญชีรายจ่ายไว้ให้ตรวจสอบได้ด้วย และในกรณีที่มูลนิธิหรือสมาคมจะยื่นคำขอเป็น องค์การสาธารณกุศล เพื่อรับยกเว้นภาษี มูลนิธิหรือสมาคมจะต้องส่งงบดุล บัญชีรายได้ รายจ่าย ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว(ผู้สอบบัญชีในที่นี้หมายถึงผู้สอบบัญชีรับอนุญาต) ย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อประกอบการพิจารณาของกรมสรรพากร[/su_box]
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภงด.55